การบริหารความเสี่ยง ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้
พูดถึงการดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจ
ในยุคปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า มีความซับซ้อนและคาดเดาได้ยากมากกว่าในอดีต
เป็นเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กูรูทางธุรกิจ
มักจะกล่าวว่าเราจะอยู่ในยุคของโลกวูก้า (VUCA World) ซึ่งเป็นคำย่อมาจาก
Volatility, Uncertainty, Complexity และ Ambiguity โดยหมายความถึง
สิ่งที่ผันแปรขึ้นและลงได้ตลอดเวลา ,ไม่มีความแน่นอน
,มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันไปหมด
,รวมทั้งมีความไม่ชัดเจนในอนาคตว่าจะเป็นไปในทิศทางใด คือพูดง่ายๆว่า
เดายากเหลือเกินว่าผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร
จะเห็นได้จากตัวอย่างที่ชัดเจนจากเหตุการณ์การระบาดของโควิด 2019 ที่เกิดต่อเนื่องมาถึงประมาณสองปี โดยในตอนแรกไม่มีใครคาดคิด
ว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลก และ ทอดระยะเวลาที่ส่งผลกระทบยาวนานถึงสองปี และ
ที่สำคัญคือยังไม่ทราบว่าสุดท้าย แท้จริงแล้วจะกินระยะเวลานานไปสักเท่าไหร่
หรือจะมีโรคอุบัติใหม่ที่ร้ายแรงกว่าเดิมหรือไม่ ซึ่งคงเป็นคำถามที่อยู่ในใจพวกเราทุกคน
ดังนั้นเพื่อการดำเนินชีวิตให้ราบรื่น หรือการดำเนินธุรกิจให้รอดปลอดภัย จึงควรมีกระบวนการเพื่อรับมือกับสิ่งที่ไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาแล้วส่งผลกระทบกับชีวิตหรือธุรกิจ
โดยในทางธุรกิจเรียกว่า การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) อันที่จริงแล้วในอดีตกาลมนุษย์ก็ต้องปรับตัว
เพื่อรับมือกับสิ่งที่ไม่แน่นอน มาตลอดตามประวัติศาสตร์อันยาวนาน
หากแต่ในปัจจุบันความไม่แน่นอนเหล่านั้น นับวันจะมีความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ
ตามที่ได้กล่าวมา ดังนั้นหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการบริษัท คือต้องเล็งเห็นความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง
ว่าจะทำไปเพื่ออะไร
ทำไมถึงต้องทำและเข้าใจว่ากระบวนการบริหารความเสี่ยงนั้นทำกันอย่างไร ซึ่งในประเด็นนี้ จะเป็นประเด็นตัดสิน
ว่าบริษัทนั้นๆ หรือบุคคลนั้นๆ
จะสามารถดำเนินชีวิตหรือดำเนินธุรกิจไปได้อย่างราบรื่นและมีโอกาสประสบความสำเร็จหรือไม่
ในยุคแห่งความท้าทายในปัจจุบัน ขอยกตัวอย่างการบริหารความเสี่ยงในระดับบุคคลว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมา
หากใครมองการณ์ไกลแล้วได้ทำประกันสุขภาพ ประเภทเจอ-จ่าย-จบ และโชคร้ายติดเชื้อโควิดขึ้นมา
ก็จะได้รับเงินชดเชยตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ของแต่ละบริษัท โดยบางบริษัทจะจ่ายถึง 1,000,000
บาท ซึ่งแน่นอนว่า หากผู้ใดไม่ได้มีการทำประกันอะไรไว้เลย
แล้วเกิดโชคร้ายติดโควิดขึ้นมา ก็จะไม่มีโอกาสได้รับเงินชดเชยดังกล่าว
โดยเรายังไม่ได้พูดถึงการที่บุคคลนั้นจะได้รับการรักษาที่มีคุณภาพหรือไม่
หรือเข้าโรงพยาบาลได้ทันเวลาหรือไม่ จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่าจะเกิดความแตกต่างในด้านสถานะทางการเงินอย่างแน่นอนระหว่างผู้ที่ได้ทำประกันกับผู้ที่ไม่ได้ทำประกันไว้
หรือในแง่บริษัทก็เช่นเดียวกันที่ผ่านมา หลายบริษัท
มีความจำเป็นต้องทำงานผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น หากบริษัทใด
ไม่ได้เตรียมความพร้อมมาก่อนเหตุการณ์โควิดนี้ หรือ มีความล่าช้าในการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมต่อสัญญาณต่างๆ
บริษัทเหล่านั้น จะได้รับผลกระทบอย่างมาก
เนื่องจากเมื่อเกิดเหตุการณ์โควิดขึ้นแล้ว ทุกบริษัทก็โดนบีบบังคับไปโดยปริยาย ที่ต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารออนไลน์ต่างๆ
ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อปริมาณดีมานด์ มีจำนวนมากกว่าซัพพลาย สินค้าย่อม หายากมากขึ้น
รวมทั้งราคาของสินค้าย่อมสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเมื่อเทียบกับบริษัท
ที่มีการเตรียมความพร้อมและมองการณ์ไกลจะเห็นได้ว่าบริษัทเหล่านี้จะมีต้นทุนการบริหารงานที่ต่ำกว่าและมีประสิทธิภาพในการติดต่อสื่อสารมากกว่า
ที่สำคัญคือมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดนี้
มากกว่าบริษัทที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมใดๆ หรือพยายามจัดเตรียมแต่ล่าช้าเกินไป เช่นหลายๆร้านค้าที่ไม่ได้เตรียมแพลตฟอร์มการขายออนไลน์ไว้เลย
ซึ่งท้ายที่สุดแล้วอาจจะต้องถึงขั้นเลิกราในการทำธุรกิจไปเลย
ดังนั้น
จากบทเรียนดังกล่าวที่ผ่านมา ทำให้เราทราบว่าการบริหารความเสี่ยง
นั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้
แต่เป็นสิ่งที่ผู้บริหารต้องสนใจใส่ใจที่จะเรียนรู้และต้องลงมือทำเพื่อความอยู่รอด(Survival) ความยั่งยืน (Sustainability)และมีโอกาสประสบความสำเร็จ
( Success) มากกว่าคู่แข่งที่อาจละเลยถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงนี้
วันนี้จึงขอฝากเรื่องนี้ไว้เป็นแง่คิดให้กับพวกเราทุกคนครับ